ครม. อนุมัติลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง ม.33 ม.39 ตั้งแต่ ต.ค. – ธ.ค. 65

ครม. อนุมัติลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง ม.33 ม.39 ตั้งแต่ ต.ค. – ธ.ค. 65

Knowledge 0

ด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกกับมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำของเหล่าบรรดาแรงงาน ส่งผลให้เกิดความกังวลใจว่าการส่งเงินสมทบประกันสังคมต้องมีอัตราเพิ่มขึ้นตามรายได้หรือไม่?

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการได้ประชุม ครม. เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา มติได้ยืนยันการอนุมัติเรื่องกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเป็นที่เรียบร้อย โดยคิดเป็นการเพิ่มขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 5.02% และจะประกาศให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไปนั้น

ทางด้านกระทรวงแรงงานยังคงเล็งเห็นความสำคัญในด้านการช่วยเหลือทั้งเหล่าบรรดานายจ้างผู้ประกอบการ และพี่น้องผู้ประกันตน เน้นไปยังผู้มีรายได้น้อยและยังคงได้รับความเดือดร้อนจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมากเนื่องมาจากมค่าครองชีพมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเพราะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

กระทรวงแรงงาน จึงได้นำเสนอมาตรการลดเงินสมทบทั้งฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตน และเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีได้ยืนยันมติเห็นชอบมาตรการความช่วยเหลือลดเงินสมทบนายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมร้อยละ 5 เหลือเพียงร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ทั้งฝ่ายผู้ประกอบการและฝ่ายลูกจ้าง

ด้านผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ปรับลดอัตราเงินสมทบ จากอัตราเดือนละ 432 บาท เหลือแค่อัตราเดือนละ 240 บาท จะเริ่มตั้งแต่งวดเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 ขณะที่ทางด้านรัฐบาลก็ยังส่งเงินสมทบในอัตราเท่าเดิมคือร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวย้ำว่า มาตรการลดเงินสมทบเพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนจากปัญหาดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบลดลงราว 576 – 900 บาทต่อคน รวมแล้วจะลดลงได้ถึงราว 9,080 ล้านบาท และสามารถนำไปใช้ในด้านอื่นต่อไป รวมถึงนำไปใช้แก้ปัญหาด้านการเงินของผู้ประกันตนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้วยังช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ปัจจุบันมีอัตราสูงขึ้น จึงถือว่าช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับนายจ้างได้อย่างดี รวมเป็นจำนวนเงินกว่า 7,964 ล้านบาท ตรงนี้จะช่วยให้สถานประกอบการยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างแม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวอยู่ก็ตาม

ทั้งนี้ เงินสมทบที่ลดลงมากกว่า 17,044 ล้านบาท จะถูกเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

โดยขั้นตอนต่อไป กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมจะได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทันภายในกำหนดระยะเวลา จึงขอให้นายจ้างและผู้ประกันตน มั่นใจในขั้นตอนของกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมภายใต้นโยบายของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ให้ความสำคัญเพื่อการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาผู้ประกันตนให้ตรงประเด็นและทันท่วงที เพราะปัญหาปากท้องของพี่น้องแรงงานทุกคนเป็นสิ่งสำคัญ พร้อมกันนี้ขอยืนยันว่าจะไม่มีการทิ้งใครให้ต้องลำบากด้านหลังแน่นอน

ขอบคุณภาพจาก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

ที่มา: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน