กระดานถามตอบ
สวัสดีครับ ผมรวบรวมคำถามที่ลูกค้าหรือผู้ที่สนใจใช้บริการรับทำเงินเดือนสอบถามเข้ามา ตอบรวบรวมไว้ในกระทู้นี้อันเดียวเลยนะครับ จะได้สะดวกเวลาค้นหาครับ
ถาม การขึ้นทะเบียนนายจ้างสามารถไปติดต่อขึ้นได้ทุกเขตทั่วประเทศหรือไม่ เช่นบริษัทจดทะเบียนที่เขตจตุจักร สามารถมาขึ้นทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคมในสมุทรปราการได้ไหม
ตอบ ไม่ได้ครับ ต้องขึ้นทะเบียน (และส่งเงินสมทบทุก ๆ เดือน) ตามพื้นที่ โดยนายจ้างที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ สำหรับเขตกรุงเทพมหานครนั้น ให้ยื่นแบบได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำหรับนายจ้างที่มีสำนักงานใหญ่ในส่วนภูมิภาคให้ยื่นแบบขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่ครับ
ถาม การขึ้นทะเบียนนายจ้าง ประกันสังคม ใช้เอกสารอะไรบ้าง
ตอบ ใช้เอกสารดังนี้ครับ
กรณีจดทะเบียนนิติบุคคล
- แบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส. 1-01)
- สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลพร้อมวัตถุประสงค์
- สำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ช.20) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)
- แผนที่ตั้งของสถานประกอบการ
- หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด)
กรณีเจ้าของคนเดียว (ต้องใช้เอกสารแนบทุกข้อที่กำหนด)
- สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประชาชน (คนต่างด้าวใช้สำเนาหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว)
- สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน
- สำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนพาณิชย์ หรือใบอนุญาตให้ประกอบกิจการที่ออกตามกฏหมายอื่น ซึ่งระบุชื่อที่อยู่ชัดเจน
- สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร หรือสำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) หรือสำเนาภาพถ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.20)
- แผนที่ตั้งของสถานประกอบการ
- หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด)
ถาม ถ้ามีลูกจ้างแล้ว ต้องไปขึ้นทะเบียนเมื่อไหร่
ตอบ นายจ้างมีหน้าที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่รับลูกจ้างเข้าทำงานครับ
ถาม เจ้าของกิจการ หรือนายจ้าง สามารถยื่นเรื่องขอเป็นผู้ประกันตนเองได้หรือไม่
ตอบ เจ้าของกิจการ ไม่สามารถขึ้นทะเบียนให้ตนเองเป็นผู้ประกันตนได้ครับ
ถาม เมื่อขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้างเสร็จแล้ว จะคำนวณเงินสมทบอย่างไร วิธีคำนวณเงินประกันสังคม
ตอบ นายจ้างจะต้องหักเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง โดยคำนวณเงินสมทบจำนวน 5% (อัตราเงินสมทบในปัจจุบัน) จากค่าจ้าง โดยเพดานต่ำสุดของค่าจ้างที่นำมาคำนวณคือ 1,650 บาท และเพดานสูงสุดของค่าจ้างที่นำมาคำนวณคือ 15,000 บาท เพราะฉะนั้นเงินประกันสังคมต่ำสุดจะอยู่ที่ 83 บาทต่อคน ต่อเดือน (คิดมาจาก 1,650 x 5% ปัดเศษ) และเงินประกันสังคมสูงสุดจะอยู่ที่ 750 บาทต่อคน ต่อเดือน (คิดมาจาก 15,000 x 5%)
จากนั้นนายจ้างจะต้องสมทบเงินส่วนของนายจ้างในจำนวนเท่ากับที่ลูกจ้างทั้งหมดถูกหักรวมกัน เช่น ลูกจ้าง 10 คน คำนวณประกันสังคมได้ที่ 7,500 บาท ให้นายจ้างหักเงินลูกจ้างออกจากเงินเดือนที่ได้รับ และนายจ้างสมทบอีก 7,500 บาท รวมเป็น 15,000 บาทในเดือนนั้น และนำส่งสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปครับ
ถาม เมื่อขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้างเสร็จแล้ว จะส่งเงินสมทบอย่างไร วิธีส่งเงินประกันสังคม
ตอบ การนำส่งเงินสมทบแก่ประกันสังคมนั้น ทำได้หลายวิธี เช่น
- นำส่งสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ด้วยตนเอง
- นำส่งทางเคาท์เตอร์ธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาติ
- นำส่งผ่านการหักบัญชีธนาคารอัตโนมัติ
กรณีนายจ้างชำระเงินสมทบล่าช้า อาจมีโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับด้วยนะครับ
ถาม หากนายจ้างไม่ส่งเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างจะเป็นอย่างไร
ตอบ ถ้านายจ้างส่งเงินสมทบไม่ทันหรือส่งไม่ครบจะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ไม่ได้ส่งหรือจำนวนเงินที่ขาดอยู่ โดยต้องนำส่งด้วยตัวเองที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่หรือสำนักงาน ประกันสังคมจังหวัดเท่านั้น แต่หากนายจ้างกรอกแบบแสดงการส่งเงินสมทบ (สปส.1-10) ไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจะสั่งให้นายจ้างกรอกแบบฟอร์มให้ถูกต้อง หากยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องอีก อาจมีโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับนะครับ
ถาม การขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ประกันสังคม ใช้เอกสารอะไรบ้าง
ตอบ การขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนนั้น ให้นายจ้างยื่นแบบหนังสือนำส่งแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-02) 1 ฉบับ และแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03) 1 ฉบับต่อผู้ประกันตน 1 คน เช่น ต้องการขึ้นทะเบียนลูกจ้าง 5 คน ก็กรอกข้อมูลในแบบ สปส 1-03 รวม 5 ฉบับ ยื่นพร้อมกับหนังสือนำส่งแบบ (สปส. 1-02) อีก 1 ฉบับ พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อลูกจ้างครับ
ถาม กรณีต้องการเพิ่มชื่อลูกจ้างรายใหม่ต้องยื่นแบบฟอร์มใหม่ทั้งหมดหรือไม่คะ
ตอบ ไม่ต้องยื่นใหม่ทั้งหมดครับ เพียงแค่กรอกแบบฟอร์มขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03) ตามจำนวนลูกจ้างที่ต้องการขึ้นใหม่เพิ่ม แนบพร้อมกับหนังสือนำส่งแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-02) อีก 1 ฉบับ พร้อมกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อลูกจ้างอยู่ครับ
ถาม กรณีที่มีลูกจ้างลาออกจากงานต้องทำอย่างไร
ตอบ เมื่อมีลูกจ้างลาออกจากงาน ให้นายจ้างแจ้งการออกจากงานโดยระบุสาเหตุการออกจากงานโดยใช้หน้งสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปครับ
ถาม กรณีที่ลูกจ้างมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดต้องทำอย่างไร
ตอบ หากลูกจ้างมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเช่น เปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุลหรือข้อมูลสถานพยาบาลครอบครัวและข้อมูลจำนวนบุตรให้ใช้หน้งสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน (สปส. 6-10) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เช่นเดียวกันกับนายจ้างหากมีรายละเอียดอย่างเช่น เปลี่ยนชื่อกิจการ เปลี่ยนแปลงที่อยู่ของลำดับที่สาขา ย้ายสถานประกอบการ หรือยกเลิกกิจการ เป็นต้น นายจ้างต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงโดยใช้หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง (สปส. 6-15) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปด้วยเช่นกันครับ
ถาม อายุมากแล้ว อยากทำประกันสังคมเพื่อแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาล จะทำได้หรือไม่
ตอบ สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดอายุของลูกจ้างที่จะขึ้นทะเบียนไว้ครับ โดยลูกจ้างจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์ และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ในวันเข้าทำงานครับ แต่หากลูกจ้างผู้ประกันตนมาก่อนอายุครบ 60 และเมื่ออายุถึง 60 ปี แล้วสามารถเป็นผู้ประกันตนต่อไปได้ครับ
ถาม ทำงานที่ใหม่มา 3 เดือนแล้ว ตอนนี้ท้องอยู่ แบบนี้ประกันสังคมจ่ายให้ไหมค่ะ
ตอบ เข้าใจว่าหมายถึงการเบิกค่าคลอดบุตรนะครับ การเบิกค่าคลอดบุตรนั้น ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตรครับ คือ ให้นับรวมที่เก่ามาด้วยว่าจ่ายไปแล้วกี่เดือน ถ้านับย้อนกลับไป 15 เดือน (1 ปีกับอีก 3 เดือน) มีการจ่ายเงินสมทบ 5 เดือนขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องจ่ายต่อเนื่อง ก็สามารถทำเรื่องเบิกค่าคลอดบุตรกับประกันสังคมได้ ที่สำคัญ จะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ประมาณหนุ่มสาวออฟฟิศ หนุ่มสาวโรงงาน หรือทำงานประจำทั่ว ๆ ไป หรือเป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจมาตรา 39 เท่านั้นครับ ไม่รวมถึงผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งผู้ประกันตนแรงงานนอกระบบ เช่น พ่อค้า แม่ค้า แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ รับจ้างทั่วไป นะครับ
ถาม ถ้าเบิกได้ เบิกคลอดบุตรจากประกันสังคมได้เท่าไหร่คะ
ตอบ การคลอดบุตรนั้น ปัจจุบันประกันสังคมให้เงินช่วยเหลือ 3 อย่าง ดังนี้ครับ
1. เหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรในอัตรา 13,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง (คลอดเดี่ยว คลอดแฝด ก็นับเป็น 1 ครั้ง ไม่ได้นับตามจำนวนบุตรที่คลอด) พอรับเราเป็นเงินเหมาจ่ายมาแล้ว เราจะไปฝากท้อง คลอดเอง ผ่าคลอด ที่โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลตามสิทธิ หรือไม่ตามสิทธิ ก็แล้วแต่เราเลือกเองเลยครับ
2. เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน คิดที่ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุด 15,000 บาท ซึ่งก็เท่ากับเพดานค่าจ้างที่เราจ่ายประกันสังคมไปนั่นแหละครับ โดยมีสิทธิรับเงินส่วนนี้ได้แค่ 2 ลูกคนเท่านั้น คลอดคนที่ 3 จะไม่ได้รับเงินส่วนนี้ครับ
3. เงินสงเคราะห์บุตรจำนวน 600 บาทต่อคน ต่อเดือน (ปัจจุบันปรับเป็น 400 บาท) ได้รับเงินตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบครับ (จำกัดสูงสุด 3 คน) แต่การจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรนั้น ผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือนที่ผ่านมาครับ
ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์คลอดบุตรประกันสังคม ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทุกแห่งทั่วประเทศที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
โดยมีช่องทางการับเงินดังนี้ครับ
– เงินสด หรือเช็ค (ผู้มีสิทธิไปขอรับด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทนได้)
– ส่งธนาณัติให้ผู้ประกันตน
– โอนเข้าบัญชีธนาคาร
ถาม สอบถาม ถ้าลาคลอดไม่ถึง 90 วัน จะได้รับเงินค่าคลอดบุตรจากประกันสังคมเต็ม 90 วันหรือไม่
ตอบ ได้รับเต็มจำนวนเพราะค่าคลอดบุตรเป็นการให้แบบเหมาจ่ายจำนวน 13,000 บาทต่อครั้งไม่ว่าคุณแม่จะลาหยุดงานหรือไม่ลาหยุดงานเลยก็ตามครับ
ถาม ถ้าลาคลอดหยุดงานไม่ถึง 90 วัน จะได้รับเงินในระหว่างหยุดงานจากบริษัทเต็มจำนวนหรือไม่
ตอบ ในกรณีนี้อาจจะได้ หรือไม่ได้ แล้วแต่นโยบายของบริษัทครับ เพราะกฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน นั่นหมายความว่า ถ้าหยุดงาน 30 วัน อาจจะได้รับค่าจ้างเต็ม ๆ 30 วัน ในระหว่างที่ลาหยุด แต่ถ้าเดือนที่ 2 คุณแม่กลับมาทำงานแล้ว อาจจะไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างลาหยุดนะครับ อย่างไรก็ตามเมื่อคุณแม่กลับมาทำงานแล้ว คุณแม่ก็จะได้รับค่าจ้างเต็ม 100% เหมือนการทำงานปกตินั่นเองครับ
ถาม สอบถามค่ะ เปิดร้านอาหาร ถ้าขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้าง จะได้ประกันสังคมมาตรา 39 หรือ 40 คะ
ตอบ นายจ้างสามารถขึ้นทะเบียนให้ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ไม่ต่างจากหนุ่มสาวออฟฟิศหรือโรงงานทั่ว ๆ ไป ได้ครับ ส่วนมาตรา 39 หรือ 40 นั้น เป็นกรณีที่คนทั่ว ๆ ไปสมัครเป็นผู้ประกันตนเอง โดยที่
ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือ คนที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อนแล้ว และเลิกทำงานประจำ หันมารับงานหรือทำอาชีพอิสระแทน ส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ซึ่งคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% จากรายได้เฉลี่ยสูงสุดที่ 4,800 บาทต่อเดือน
ความคุ้มครองสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 มีความคุ้มครอง 6 กรณี คือ
- กรณีเจ็บป่วย
- กรณีคลอดบุตร
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีเสียชีวิต
- กรณีสงเคราะห์บุตร
- กรณีชราภาพ
ผู้ประกันตนมาตรา 40 คือ นโยบายของรัฐที่ต้องการขยายประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ เช่น พ่อค้าแม่ค้า แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง อาชีพอิสระ ฯลฯ ด้วย โดยผู้ประกันตนเลือกส่งเงินสมทบได้ 3 แผน คือ เดือนละ 70 เดือนละ 100 หรือเดือนละ 300 บาท และรัฐบาลจะสมทบอีกส่วนหนึ่งครับ
ความคุ้มครองสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 มีความคุ้มครอง ดังนี้
- กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีเสียชีวิต
- กรณีชราภาพ
กรณีเจ็บป่วยนั้น ผู้ประกันตนมาตรา 40 จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เป็นรายวัน ส่วนการรักษาพยาบาลนั้น จะไม่มีโรงพยาบาลที่รับรองสิทธิการรักษาเหมือนผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนมาตรา 39 แต่ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแทนได้ครับ
ถาม ทำงานมาจะถึงปีแล้ว ถูกหักค่าประกันสังคมทุกเดือน แต่บริษัทยังไม่ทำให้ บอกเพิ่งยื่นไปเดือนก่อน แล้วหลายเดือนที่ผ่านมา เขาคิดค่าอะไรคับ ต้องเสียเงินล่วงหน้าก่อนที่เราจะทำบัตรประกันสังคมด้วยเหรอ
ตอบ การสมัครเป็นผู้ประกันตนนั้น ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายล่วงหน้าใด ๆ ครับ กรณีนี้เข้าใจว่านายจ้างอาจพบปัญหาในการดำเนินการเรื่องอื่นมากกว่า เช่น เรื่องความถูกต้องครบถ้วนของเอกสาร หรือเรื่องข้อมูลของผู้ประกันตน (ลูกจ้าง) เอง แนะนำให้สอบถามผู้เกี่ยวข้องให้กระจ่างนะครับ
ถาม แล้วถ้ารู้ว่านายจ้างหักเงินเราไป แต่ไม่สมัครประกันสังคมให้เรา จะเป็นอย่างไร
ตอบ ถ้านายจ้างส่งเงินสมทบไม่ทันหรือส่งไม่ครบจะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ไม่ได้ส่งหรือจำนวนเงินที่ขาดอยู่ครับ หรือหากนายจ้างกรอกแบบแสดงการส่งเงินสมทบไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจะสั่งให้นายจ้างกรอกแบบฟอร์มให้ถูกต้อง หากยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องอีกจะมีโทษต้องระวางโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แนะนำให้สอบถามรายละเอียดให้ชัดเจนนะครับ นายจ้างอาจกำลังดำเนินการอยู่ก็ได้ครับ
ถาม ถ้าคนงานลาออกแล้ว ต้องแจ้งยกเลิกประกันสังคมหรือไม่ ใช้เอกสารอะไร
ตอบ กรณีที่มีลูกจ้างลาออกจากงาน ให้นายจ้างแจ้งการออกจากงานโดยระบุสาเหตุการออกจากงาน เช่น ลาออก ละทิ้งหน้าที่ สิ้นสุดสัญญาจ้าง เสียชีวิต โอนย้ายสาขา โดยใช้หนังสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09) และนำส่งสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่15 ของเดือนถัดไปครับ
ถาม เมื่อลาออกจากงานแล้ว ยังใช้สิทธิประกันสังคมได้ไหม
ตอบ เมื่อลาออกจากงานแล้ว สิทธิ์ประกันสังคมจะยังอยู่อีก 6 เดือนครับ ถ้าได้งานใหม่ ก็ให้นายจ้างใหม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนชื่อเราไป แล้วก็นำส่งประกันสังคมต่อไป แต่ถ้ายังไม่ได้งาน หรือตัดสินใจทำงานอิสระ หรือเริ่มธุรกิจของตนเองแล้ว เราสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้ครับ โดยนำส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ไปจ่ายเองที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ หรือแจ้งความประสงค์ให้หักผ่านบัญชีธนาคารก็ได้ครับ สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องกังวลว่าจะลืมส่งเงินสมทบ แต่ผลประโยชน์ของผู้ประกันตนในมาตรา 39 นั้น จะน้อยกว่าผู้ประกันตนมาตรา 33 อยู่นิดหน่อยนะครับ
ถาม สิทธิ ผลประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 39 ต่างจาก มาตรา 33 อย่างไร
ตอบ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับสิทธิการคุ้มครอง 7 กรณี คือ
- กรณีเจ็บป่วย
- กรณีคลอดบุตร
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีเสียชีวิต
- กรณีสงเคราะห์บุตร
- กรณีชราภาพ
- กรณีว่างงาน
ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้รับสิทธิการคุ้มครอง 6 กรณีครับ คือ
- กรณีเจ็บป่วย
- กรณีคลอดบุตร
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีเสียชีวิต
- กรณีสงเคราะห์บุตร
- กรณีชราภาพ
16 Responses
ถ้าลูกจ้างขาดงานเกิน 3 วัน โดยไม่แจ้งและไม่ลา จะมีผลต่อนายจ้างอย่างไรบ้างคะ
เข้าใจว่าคงหมายถึงประเด็นการเลิกจ้างและการจ่ายค่าชดเชยนะครับ
พรบ.คุ้มครองแรงงานนั้นได้กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเอาไว้ในมาตรา 118 อย่างไรก็ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานได้กำหนดข้อยกเว้นเอาไว้ในมาตรา 119 ดังนี้
มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ถ้าพิจารณาจากข้อ (5) แล้ว นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงเหตุผลในการขาดงานด้วยนะครับ หากมีเหตุอันสมควร เช่น ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วยเข้าพักรักษาตัวในสถานพยาบาล ฯลฯ ก็อาจเป็นเหตุสุดวิสัยอันควรได้ หากไม่มีเหตุผลอันควร นายจ้างอาจจะยังไม่เลิกจ้างแต่ใช้วิธีตักเตือนด้วยวาจา หรือออกใบเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนก็ได้ แนะนำให้พูดคุยเจรจาเพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกันนะครับ
นายจ้างสามารถทำประกันสังคมได้หรือไม่
ถาม นายจ้างทำประกันสังคมให้ตัวเองได้หรือไม่ / เจ้าของกิจการ สามารถยื่นเรื่องขอเป็นผู้ประกันตนเองได้หรือไม่
ตอบ ประกันสังคมจะให้ความคุ้มครองเฉพาะลูกจ้างเท่านั้น หากเป็นกิจการเจ้าของคนเดียว เจ้าของกิจการหรือนายจ้าง ไม่สามารถขึ้นทะเบียนให้ตนเองเป็นผู้ประกันตนได้ครับ แต่หากเป็นรูปแบบนิติบุคคล ก็ต้องพิจารณาว่าบุคคลนั้นเข้าข่ายเป็นนายจ้างหรือลูกจ้าง อาทิเช่น
– เป็นผู้เริ่มก่อการและก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่แรก หรือเป็นผู้ถือหุ้น หรือไม่
– ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับในการทำงานของบริษัท กล่าวคือลักษณะงานไม่เหมือนลูกจ้าง ไม่มีการสมัครงาน ปฏิบัติงานโดยอิสระ ไม่ต้องมาทำงานในเวลาทำการทุกวัน การลา ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัท หรือไม่
– มีผู้บังคับบัญชา หรือไม่
– การทำงานให้กับบริษัทเป็นการทำงานในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นที่ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของบริษัท เป็นการทำกิจการด้วยจุดประสงค์เพื่อจะแบ่งปันกำไรอันพึงได้เท่านั้นใช่หรือไม่
โดยการพิจารณาว่าบุคคลใดเข้าข่ายเป็นนายจ้างหรือไม่นั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างอื่นอีก แนะนำปรึกษาเจ้าหน้าประกันสังคมในพื้นที่ หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1560 นะครับ
ในกรณีที่บิดาเสียชีวิตในช่วงปลายปี ต้นปีหน้าสามารถยื่นลดหย่อนได้หรือไม่
สวัสดีครับ
กรณีที่บิดา/มารดาเสียชีวิตในระหว่างปีภาษี (หรือก่อนยื่นภาษีต้นปีถัดไป) นั้น ผู้มีเงินได้ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา/มารดาในปีนั้นได้อยู่ครับ โดยต้องเตรียมใบมรณะบัตรเอาไว้เผื่อเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจสอบด้วยนะครับ
โดยมีข้อที่ควรทราบเกี่ยวกับการลดหย่อยค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา/มารดา คือ
1. บิดามารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
2. บิดามารดามีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
3. ผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย (โดยบิดามารดาจดทะเบียนสมรส หรือบิดาจดทะเบียนรับรองบุตร ไม่สามารถหักลดหย่อนบิดามารดาบุญธรรมได้)
4. หักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (บิดากับมารดา รวมเป็น 60,000 บาท)
5. กรณีบิดามารดามีบุตรหลายคน ให้บุตรเพียงคนเดียวที่มีหนังสือรับรองฯ ล.ย.03 เป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อนครับ
I am regular reader, how are you everybody? This article posted at this web page is actually good.
Hello it’s me, I am also visiting this web site daily, this site is really fastidious and the visitors are really sharing nice thoughts.
This text is invaluable. Where can I find out more?
บริษัทให้ทำงานสัปดาห์ละ 7 วัน ทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุดเลยได้หรือไม่
พรบ. คุ้มครองแรงงานกำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์อย่างน้อย 1 วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วันครับ เช่น ทำงานวันจันทร์ถึงเสาร์ หยุดวันอาทิตย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าเพื่อสะสมวันหยุดประจำสัปดาห์และเลื่อนไปหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาสี่สัปดาห์ติดต่อกัน นายจ้างควรจัดให้ลูกจ้างควรได้พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิในวันต่อ ๆ ไปครับ
บริษัทกำหนดให้ลาป่วยได้ 30 วัน หากต้องการลามากกว่านั้นจะทำอย่างไร
การใช้แรงงานเด็ก แบบไหนถึงเป็นการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานเด็กมีข้อกำหนดอย่างไร
บริษัทบังคับทำโอทีได้หรือไม่ ที่บริษัทบังคับให้ทำงานล่วงเวลาได้หรือไม่ครับ
สวัสดีครับ ขออนุญาตเอาคำถามที่เคยได้รับ มาลงให้เพื่อน ๆ อ่านกันนะครับ
ถามว่านายจ้างบังคับให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้หรือไม่ ถ้าตอบสั้น ๆ ก็ต้องบอกว่าบังคับไม่ได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไปครับ แต่จริง ๆ ต้องดูรายละเอียดอื่นเพิ่มเติมด้วย เช่น ในกรณีที่ลักษณะงานหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎหมาย นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็นครับ
นอกจากนี้แล้วนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้สำหรับกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล หรือกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงได้อีกด้วยครับ
ตอบ ขอสรุปเรื่องการลาหยุดของลูกจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง (ลูกจ้างลาหยุด แต่ห้ามหักเงินลูกจ้าง) ที่พบได้บ่อย ๆ ตามนี้นะครับ ถ้าลามากกว่าที่กำหนดก็ได้ แต่อาจไม่ได้รับค่าจ้างครับ
– วันหยุดประจำสัปดาห์ เช่น เสาร์-อาทิตย์
– วันหยุดตามประเพณี
– วันหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วันต่อปี
– ลาป่วย 30 วันต่อปี
– ลาคลอด 45 วันต่อปี
– ลากิจ 3 วันต่อปี
– รับราชการทหาร 60 วันต่อปี