ตกงาน เครียด อย่าพึ่งท้อ มา “ขึ้นทะเบียนว่างงาน” เอาไว้ก่อนเลย
ด้วยสภาพเศรษฐกิจ โรคระบาด และปัจจัยหลายด้านที่รุมเร้า ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนกำลังอยู่ในสถานะ “คนตกงาน” กันเป็นจำนวนมาก คำถามที่ตามมาคือยังไม่รู้ว่าตอนนี้ตนเองจะต้องทำอย่างไร ตกงาน เครียด มีเรื่องให้คิดทุกวัน คำแนะนำแรกสำหรับทุก ๆ คนในตอนนี้คืออยากให้ “ขึ้นทะเบียนว่างงาน” เอาไว้ก่อน แต่ถ้าใครยังไม่รู้ต้องทำแบบไหน มีคำแนะนำมาบอกเล่าแล้ว
ตกงาน เครียด เริ่มจากต้อง “ขึ้นทะเบียนว่างงาน”
การขึ้นทะเบียนว่างงาน คือ ในกรณีที่คุณเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย และอยู่ในระบบผู้ประกันตนมาตรา 33 ตามกำหนดของสำนักงานประกันสังคม สามารถได้รับสิทธิ์ทดแทนจากการว่างงานตามเงื่อนไขว่าได้จ่ายเงินสมทบฯ ครบถ้วนทุกเดือน ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนตกงาน ไม่กระทำผิดใด ๆ ตามกฎหมาย โดยสามารถเช็กเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมได้ดังนี้
- ทำการขึ้นทะเบียนว่างงานที่ ‘สำนักจัดหางาน’ ไม่เกิน 30 วัน หลังออกจากงานโดยไม่ต้องมีหนังสือรับรองใด ๆ
- เมื่อขึ้นทะเบียนเรียบร้อย สำนักจัดหางานของรัฐจะมีการเลือกงานที่เหมาะสมให้ โดยคุณต้องมั่นใจว่าสามารถทำงานดังกล่าวได้ และไม่ปฏิเสธการฝึกงานหลังตกลงแล้ว
- ระหว่างช่วงว่างงาน ต้องรายงานสถานการณ์ว่างงานของตนเอง ณ สำนักจัดหางาน หรือทางเว็บไซต์ ตามวันและเวลาที่กำหนด เดือนละ 1 ครั้ง
- เหตุผลการว่างงานต้องไม่เกิดจากการทุจริตต่อหน้าที่ ไม่ใช่ความผิดอาญาโดยเจตนากับนายจ้าง ไม่ใช่การจงใจทำให้บริษัท-นายจ้างตนเองเกิดความเสียหาย ไม่ใช่การฝ่าฝืนกฎ ระเบียบในการทำงาน หรือกระทำผิดกฎหมายร้ายแรง
- ต้องไม่ใช่ผู้ที่ละทิ้งหน้าที่ตนเองตั้งแต่เ 7 วันทำงานติดต่อกัน แบบไร้การแจ้งข้อมูลกับนายจ้าง หรือไม่ใช่เหตุอันควรต่อการหยุดงาน
- ไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์ได้รับผลประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ และไม่ใช่ผู้ประกันตนมาตรา 39
ขั้นตอนการ “ขึ้นทะเบียนว่างงาน”
เครียด ตกงาน อย่าพึ่งกังวลใจ ลองมาศึกษาขั้นตอนการ “ขึ้นทะเบียนว่างงาน” กันเลย ทำไม่ยากอย่างที่คิด ดังนี้
1. เตรียมเอกสารให้ครบถ้วน
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
- บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประชาชน
- รูปถ่าย 1 นิ้ว 1 รูป (ไม่เกิน 6 เดือน)
- หนังสือรับรองการออกจากงานหรือแบบแจ้งลาออกจากงาน (สปส. 6-09) (ถ้ามี)
- หนังสือคำสั่งนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
- สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝาก (ออมทรัพย์) ชื่อหน้าสมุดบัญชีเป็นชื่อผู้ประกันตนเท่านั้น
2. เข้าเว็บไซต์กรมจัดหาแรงงาน หรือเดินทางไปยังสำนักจัดหาแรงงาน แล้วลงทะเบียนกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน
3. นำส่งเอกสารทั้งหมดให้กับสำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่อยู่อาศัยของตนเอง
นอกจากนี้ผู้ที่ตกงานยังได้รับเงินทดแทนตามเงื่อนไขที่ประกาศไว้ตามกฎหมายด้วย ซึ่งแต่ละกรณีจะแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- เลิกจ้าง – รับเงินทดแทนไม่เกิน 180 วัน อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย ต้องส่งเงินสมทบต่อเนื่อง 6 เดือน ไม่น้อยกว่า 15 เดือนก่อนเลิกจ้าง
- ลาออกเอง – หมดสัญญาจ้างงาน รับเงินทดแทนไม่เกิน 90 วัน อัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย ต้องส่งเงินสมทบต่อเนื่อง 3 เดือน ไม่น้อยกว่า 15 เดือนก่อนเลิกจ้าง