อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
ความรู้เรื่องภาษีจากกรมสรรพากร
ประเทศไทยได้เริ่มจัดทำอนุสัญญา ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2505 กับประเทศสวีเดน และได้มีการเจรจาทำอนุสัญญากับต่างประเทศเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยโครงสร้างทั่ว ๆ ไป ของอนุสัญญาประกอบด้วย 4 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
ส่วนที่ 1 ขอบข่ายของอนุสัญญา
(1) ขอบข่ายด้านบุคคล อนุสัญญาทุกฉบับจะกำหนดไว้ว่าจะบังคับใช้กับผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐคู่สัญญาเท่านั้น ผู้อื่นจะมาใช้ประโยชน์จากอนุสัญญาไม่ได้ สำหรับประเทศไทยนั้นกำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากอนุสัญญาของประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ คือ บุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 180 วัน ในปีภาษีหนึ่ง ๆ และนิติบุคคลที่จดทะเบียนก่อตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย
(2) ขอบข่ายด้านภาษี จะครอบคลุมเฉพาะภาษีเงินได้เท่านั้น นั่นคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นภาษีทางตรงและผลักภาระภาษีได้ยาก ภาษีทางอ้อมอื่น ๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะจะไม่อยู่ภายใต้บังคับของอนุสัญญา เนื่องจากเป็นภาษีทางอ้อมซึ่งผลักภาระความซ้ำซ้อนไปให้ผู้บริโภคได้ง่าย
ส่วนที่ 2 เงินได้ประเภทต่าง ๆ
ในส่วนของรายการเงินได้นั้น อนุสัญญาจะไม่กำหนดว่ารายการประเภทใด จะต้องเสียภาษีอัตราเท่าใด แต่จะทำหน้าที่เพียงบอกว่าเงินได้ประเภทนี้รัฐแหล่งเงินได้หรือรัฐถิ่นที่อยู่จะได้รับสิทธิ ในการเก็บภาษี ถ้ารัฐใดได้รับสิทธิในการเก็บภาษีผู้รับเงินได้จะต้องเสียภาษีตามกฎหมายภายในของรัฐนั้น และถ้าอนุสัญญากำหนดเพดานภาษีไว้ รัฐที่ได้สิทธิในการจัดเก็บภาษีก็จะเก็บภาษีได้ไม่เกินเพดานอัตราภาษีที่อนุสัญญากำหนดไว้ เช่น เงินได้ประเภทเงินปันผล ดอกเบี้ยและค่าสิทธิ
อย่างไรก็ดี บางข้อบทอาจกำหนดให้เพิกถอนสิทธิของรัฐแหล่งเงินได้ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นการขจัดภาษีซ้อนรูปแบบหนึ่งที่ปรากฎอยู่ในข้อบทของเงินได้ประเภทต่าง ๆ เช่น การขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือการดำเนินธุรกิจโดยไม่ผ่านสถานประกอบการถาวร เป็นต้น
ส่วนที่ 3 การขจัดภาษีซ้อน
ในอนุสัญญาแต่ละฉบับอาจกำหนดวิธีขจัดภาษีซ้อนไว้ต่างกัน เช่น ถ้ากำหนดให้ขจัดภาษีซ้อนโดยวิธียกเว้นรัฐถิ่นที่อยู่ของผู้มีเงินได้จะยอมยกเว้นภาษีให้โดยไม่ต้องนำเงินได้ที่เสียไว้แล้วในรัฐแหล่งเงินได้มารวมคำนวณภาษีในรัฐถิ่นที่อยู่ซ้ำอีก แต่ถ้าอนุสัญญากำหนดให้ใช้วิธีเครดิตภาษีรัฐถิ่นที่อยู่ยังคงสิทธินำจำนวนเงินได้ที่เกิดขึ้นในรัฐแหล่งเงินได้มารวมคำนวณภาษีในรัฐถิ่นที่อยู่ แต่จะต้องยอมให้นำภาษีที่เสียไว้ในรัฐแหล่งเงินได้มาเครดิตภาษีหักออกจากภาษีในรัฐถิ่นที่อยู่ได้ด้วย
ส่วนที่ 4 บททั่วไป
เป็นส่วนสุดท้ายที่มีลักษณะเป็นบทบัญญัติต่าง ๆ ที่ช่วยในการตีความและเป็นแนวปฏิบัติ เช่น บทบัญญัติว่าด้วยนิยามต่าง ๆ บทบัญญัติว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐคู่สัญญา การไม่เลือกปฏิบัติ การเริ่มใช้และเลิกใช้อนุสัญญา เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย จากดอกเบี้ยเงินกู้ยืม หรือค่าสิทธิ ซึ่งผู้รับไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้จากผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ขอให้พิจารณารายละเอียดต่อไป
หมายเหตุ อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลล่าสุดจากเว็บสรรพากรโดยตรงด้วยนะครับ
– http://www.rd.go.th/publish/14930.0.html
– http://www.rd.go.th/publish/306.0.html
– http://www.rd.go.th